สาวใดแอบปัสสาวะเล็ดราด สัญญาณอาการ “โรคชำรั่ว” มาเยือน
เมื่อเอ่ยถึงเรื่องปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะราด อาจดูเป็นเรื่องธรรมดาม้ากมาก ก็แหมเรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับทุกคนตอนยังเป็นเด็ก ใครไม่ฉี่ราด เรียกว่าเชยซะด้วยซ้ำ จริงมะ!

แต่ถ้าโตเป็นสาวใสวัยทำงานกันแล้ว ยังอั้นฉี่ไม่ค่อยได้ หัวเราะหรือไอกระแอม ขึ้นมาเมื่อใด ฉี่เล็ดไหลออกมาทุกครั้ง นี่สิเรื่องใหญ่ เพราะมันแสนน่าอายเป็นที่สุด และที่สำคัญอาการเช่นนี้ มันคือสิ่งที่บ่งบอกว่า “โรคชำรั่ว” มาเยือนคุณเข้าแล้ว!
“อาการชำรั่ว (Urinary Incontinence) เป็นอาการที่มีปัสสาวะเล็ดราดออกมาโดยไม่ตั้งใจและไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้นี้ อาจพบว่าเป็นอาการร่วมได้ในผู้ป่วยที่มีการอักเสบติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย” แพทย์หญิงอุมาพร นวลไธสง ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะและผู้เชี่ยวชาญด้านระบบปัสสาวะ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท บอกกล่าวถึงความหมายเจ้าโรคชื่อไม่คุ้นหูนี้
คุณหมอให้รายละเอียดว่า โรคนี้มักพบในกลุ่มสาววัยทำงาน จนถึงอายุใกล้วัยทอง ส่วนหนุ่มๆ มักพบในชายสูงวัยที่เป็นโรคต่อมลูกหมากร่วมด้วย
  • “สำหรับผู้หญิงจะพบในกลุ่มผู้หญิงทำงาน ไปจนถึงผู้หญิงในกลุ่มอายุเริ่มจะเข้าวัยทอง ซึ่งสาเหตุ มักเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท กล้ามเนื้อ ของกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ และความอ่อนแอของอุ้งเชิงกราน ส่วนในผู้ชายมักเกิดจากโรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งพบได้บ่อยในชายสูงอายุ”

คนอ้วน และสาวกชากาแฟ ต้องระวังชำรั่ว!
  • “สำหรับโรคนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับไลฟ์สไตล์ (life style) การใช้ชีวิตประจำวันค่ะ มีเพียงแต่การดื่มชา กาแฟ จะเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้มีแนวโน้มเสี่ยงเป็นโรคชำรั่วได้เป็นมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยที่อ้วนจะมีโอกาสเกิดอาการชำรั่วได้มากขึ้น” คุณหมอคนสวยเตือน

ลักษณะอาการที่เด่นชัดของโรคชำรั่ว ศัลยแพทย์สาวให้ข้อมูลว่าแบ่งได้เป็น 4 ประเภทค่ะ
“ผู้ที่ป่วยเป็นโรคชำรั่ว จะมีอาการหลากหลายประเภท โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท กลุ่มแรกคือUrgency Incontinence เป็นชนิดที่มีอาการปวดปัสสาวะรุนแรง จนไม่สามารถ รอไปเข้าห้องน้ำได้ทัน จึงมีปัสสาวะเล็ดราดออกมาเลย ซึ่งแบบนี้พบบ่อยในกลุ่มผู้หญิงทำงาน และต้องรักษาโดยการกินยา

กลุ่มที่สอง Stress Incontinence แบบนี้เป็นชนิดที่มีปัสสาวะเล็ดราดออกมาก เมื่อมีการเพิ่มความดันในช่องท้อง เช่น ไอ จาม อาการลักษณะนี้มักพบในผู้หญิงที่เริ่มมีอายุ น้ำหนักมาก เคยมีประวัติคลอดบุตรยาก เคยมีการผ่าตัดบริเวณรอบท่อปัสสาวะ หรือเคยรับการฉายรังสีรักษาบริเวณนั้นมาก่อน ประเภทนี้ใช้การรักษาหลักด้วยวิธีการผ่าตัด

กลุ่มสาม คือ Mixed Incontinence มีอาการทั้งสองอย่างข้างต้นร่วมกัน และ กลุ่มที่สี่ กลุ่มสุดท้าย คือ ชนิดที่มีปัสสาวะเล็ดราดร่วมกับมีปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะในปริมาณมาก แล้วไหลล้นออกมาเรื่อยๆ พบในผู้ป่วยชายที่มีต่อมลูกหมากโตอาการรุนแรง และในผู้ป่วยที่มีกระเพาะปัสสาวะพิการบางประเภท”

แนวทางการรักษานั้น คุณหมออธิบายโดยรวมว่า ขึ้นอยู่กับอาการค่ะ หากเป็นน้อยก็อาจจะแค่ทานยา แต่หากเป็นมากก็จะทำการผ่าตัดบริเวณท่อปัสสาวะเป็นหลัก ซึ่งการผ่าตัดท่อปัสสาวะสมัยนี้ ก็ไม่ต้องหลอนกลัวเจ็บกันแล้ว เพราะแผลผ่าตัดเล็กจิ๋ว!
  • “การผ่าตัดยุคใหม่ คือ การคล้องท่อปัสสาวะจะมีแผลผ่าตัดเล็กประมาณ 1ซม. ซึ่งแพทย์จะทำการใช้อุปกรณ์ที่ได้ออกแบบมา สอดคล้องท่อปัสสะวะเพื่อปรับความตึงให้พอดี พักพื้น 1 - 2 วันก็กลับบ้านได้ แต่หากคนไข้มีภาวะหย่อนตึงมาก นอกจากการรักษาผ่าตัดด้วยการคล้องท่อปัสสาวะ ก็จะรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมอุ้งเชิงกราน หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า รีแพร์ (Repair) แต่หากตรวจพบว่า คนไข้เป็นนิ่ว หรือเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ ก็จะรักษาตามสาเหตุนั้นๆ ต่อไป”
แพทย์สาวแห่งโรงพยาบาลสมิติเวช บอกว่าแม้โรคนี้ไม่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็สร้างปัญหาต่อการดำเนินชีวิตได้มากโข ดังนั้นถ้ามีอาการ....มาพบแพทย์เถอะค่ะ
  • “สำหรับอันตรายของโรคนี้ขึ้นอยู่กับ สาเหตุของการเกิดอาการชำรั่ว ในบางรายอาการเหล่านี้เกิดจากกระเพาะปัสสาวะบีบตัวผิดปกติโดยไม่พบสาเหตุชัดเจน หรือเกิดไอจามเล็ดราดหลังการคลอดบุตร ก็จะทำให้เกิดปัญหากับการดำเนินชีวิต สุขอนามัยส่วนบุคคล แต่ในบางรายอาการชำรั่วที่พบ อาจเกิดจากมีนิ่ว หรือเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ ก็เป็นได้ ดังนั้นหากพบอาการปัสสาวะเล็ด จึงจำเป็นต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบท่อปัสสาวะโดยตรง เพื่อจะได้ทราบสาเหตุที่แท้จริง”

คุณหมอฝากบอก “ว่าที่คุณแม่” เผื่อใจระวังอาการชำรั่ว
  • "สำหรับคุณแม่หลังคลอดลูก ก็อาจเกิดอาการชำรั่วตามมา แต่ก็ไม่ใช่ทุกราย ซึ่งอาการชำรั่วนี้มักจะเกิดกับผู้ที่มีการคลอดนาน คลอดยาก ซึ่งอาจเกิดการบาดเจ็บโดยตรงบริเวณท่อปัสสาวะขณะคลอด หรือจากการหย่อนยานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ทำให้มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานโผล่ย้อยออกมาภายนอกผ่านช่องคลอด เช่น ลำไส้ตรงทวารหนัก และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งกรณีนี้อาจก่อให้เกิดอาการผิดปกติในการปัสสาวะได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในขณะตั้งครรภ์ ก่อนคลอดก็อาจพบคุณแม่มีอาการชำรั่วได้ ซึ่งเกิดจากความดันในช่องท้องที่มากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่จะหายไปเองหลังคลอด "

ก่อนปิดท้ายการสนทนา คุณหมอใจดี ไม่ลืมที่จะเอื้อนเอ่ยถึงวิธีป้องกัน โรคนี้มาด้วยความห่วงใย

“อาการชำรั่ว ไม่มีการป้องกันโดยตรง จะเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดเสียมากกว่า โดยการควบคุมน้ำหนัก การเตรียมการคลอดที่ดี และหากอาการชำรั่วที่เกิดขึ้นยังมีอาการไม่มากนัก การหัดฝึกขมิบอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอก็จะช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้โดยไม่ต้องผ่าตัด”

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

สาระน่ารู้อื่นๆ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

Popular Posts