สวัสดีค่ะ เดือนก่อน หมอเคยเขียนเกี่ยวกับการคุมกำเนิดระยะยาว

ที่เหมาะสำหรับ สตรีขี้ลืม (ลืมทานยาคุมบ่อย ๆ จนตั้งครรภ์)

สตรีขี้เกียจ (ขี้เกียจไปโรงพยาบาลเพื่อฉีดยาคุมทุก 3 เดือน)

สตรีขี้กลัว (กลัวการผ่าตัด ไม่อยากทำหมัน)

สตรีที่มีข้อห้าม (ในการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน อย่างยาคุมกำเนิดฮอร์โมนรวม)

และบุรุษสตรีที่ชอบควบคุมสภาวะโลกร้อน โดยการ "ไม่ใช้ถุง" (ยาง) แต่ไม่ชอบควบคุมจำนวนประชากรโลกนะคะ

อีกหนึ่งวิธีคุมกำเนิด เวอร์ชั่นระยะยาวที่ว่า ได้แก่ การใส่ห่วงคุมกำเนิด และการฝังยาคุมค่ะ

ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้ เมื่อถอดห่วงคุมกำเนิด หรือถอดยาคุมกำเนิดที่ฝังออกแล้ว ก็สามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ตามปกติค่ะ

เดือนที่แล้ว หมอได้ลงรายละเอียดเรื่องการใส่ห่วงคุมกำเนิดแล้ว (ใครสนใจวิธีนี้ ลองย้อนกลับไปหาอ่านดูนะคะ)

ดังนั้นสัปดาห์นี้ หมอจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับการฝังยาคุมกำเนิดกันค่ะ

การฝังยาคุมกำเนิด คือการฝังหลอดยาพลาสติก ขนาดเท่าก้านไม้ขีด เข้าไปใต้ผิวหนังของต้นแขนด้านใน

ฤกษ์งามยามดีในการฝังยาคุมกำเนิด ได้แก่ ในช่วงระหว่างที่มีประจำเดือน หรือไม่เกิน 5 วันแรกของรอบเดือน จะเป็นหลังคลอดบุตร แท้งบุตร หรือระหว่างให้นมบุตรก็ได้ค่ะ

ซึ่งหลอดยาคุมกำเนิดพลาสติกที่ว่านี้ จะค่อย ๆ ปล่อยฮอร์โมนโปรเจสโตเจนอย่างช้า ๆ


ซึ่งฮอร์โมนโปรเจสโตเจนจะไปยับยั้งการตกไข่ (ไข่ไม่ตกก็มาผสมกับสเปิร์มไม่ได้)

ฮอร์โมนจะทำให้มูกที่ปากมดลูก (ประตูทางเข้าสู่โพรงมดลูก)เหนียวข้น ทำให้สเปิร์มว่ายน้ำผ่านเข้าประตูเข้าไปหาไข่ได้ยาก

หรือถ้าเกิดเคราะห์ไม่ดี สเปิร์มที่ฝ่ามูกเข้าไปเจอกับไข่ได้ จนผสมเป็นตัวอ่อนขึ้นมา

ยาฮอร์โมนโปรเจสโตเจนยังมีฤทธิ์ ทำให้ผนังมดลูกบาง ไม่หนานุ่ม ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน

การฝังยาคุม สามารถคุมกำเนิดได้ 3-5 ปี แล้วแต่ยี่ห้อยา

วิธีฝังยาคุมกำเนิด คุณหมอจะเป็นคนฝังยาให้ค่ะ โดยจะฉีดยาชาบริเวณที่จะฝังยาก่อน แล้วทำการฝังยาใต้ผิวหนัง แผลจะเล็กมาก ๆ ค่ะ

ส่วนถ้าจะเอาออก ก็ฉีดยาชา กรีดแผลเล็ก ๆ แล้วก็เอายาออก

ข้อดีของการฝังยาคุม คือฝังครั้งเดียวอยู่ได้หลายปี ไม่มีใครรู้ว่าคุณกำลังคุมกำเนิดอยู่ (ถ้าเขาไม่ปราดเข้ามาคว้าต้นแขนด้านในแล้วคลำอย่างตั้งใจ)

ไม่รบกวนชีวิตประจำวัน และกิจกรรมบนเตียง ถ้าอยากจะท้องก็เอายาฝังออกค่ะ

ส่วนผลข้างเคียงของการฝังยาคุมที่พบบ่อยคือ บางรายจะมีเลือดออกกะปริดกะปรอยได้ในช่วงแรกค่ะ บางรายจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ค่ะ

อาการอื่นที่พบได้ ได้แก่ ปวดศีรษะ สิวขึ้น อารมณ์เปลี่ยนแปลง เจ็บตึงเต้านมค่ะ

สุดท้ายนี้ที่หมออยากจะฝากไว้ วิธีนี้คุมกำเนิดได้ดีก็จริง แต่ก็ไม่สามารถป้องกันโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้นะคะ ดังนั้นถ้าคู่ของคุณดูเสี่ยง ไม่น่าไว้ใจ หรือปลอดภัยไว้ก่อน ก็อย่าลืมใส่ถุงยางอนามัยนะคะ สวัสดีค่ะ 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
คอลัมน์ คุยกับหมอพิณ
พ.ญ.พิณนภางค์ ศรีพหล
email:doctorpin111@gmail.com

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

สาระน่ารู้อื่นๆ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

Popular Posts